อักษรวิ่ง

ยินดีต้อนรับสู่โลกแห่งวิทยาศาสตร์แขนงชีววิทยา Welcome to the world of biological sciences.

วันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

โครงสร้างของระบบประสาท



 ระบบประสาทแบ่งตามตำแหน่งและโครงสร้างได้ 2 ระบบ คือ
          ระบบประสาทส่วนกลาง (central nervous system เรียกย่อ ๆ ว่า CNS) ได้แก่ สมอง และไขสันหลัง และระบบประสาทรอบนอก ( peripheral nervous system เรียกย่อว่า PNS)
          1. ระบบประสาทส่วนกลาง (central nervous system เรียกย่อ ๆ ว่า CNS) ศูนย์กลางของระบบประสาท ในสัตว์มีกระดูกสันหลังทั้งหมด คือ สมอง และไขสันหลัง ซึ่งมีกำเนิดมาจากเนื้อเยื่อเอกโต
เดิร์ม ในระยะเอ็มบริโอการเกิดของสมอง และไขสันหลัง เริ่มโดยเปลี่ยนแปลงมาจากนิวรัลทิลบ์ (Neural tube) ซึ่งมีลักษณะเป็นหลอดยาวไปตามแนวสันหลัง ต่อมาส่วนหน้าพองออกเป็นสมอง ส่วนตอนท้ายมีการเปลี่ยนแปลงไม่มาก ยังคงเป็นหลอดยาวกลายเป็นไขสันหลังทั้งสมองและไขสันหลัง มีเยื่อหุ้มชิ้นเดียวกันเรียกว่าเยื่อเมนนิงจิส (Meninges) เยื่อนี้ประกอบด้วยชั้นต่าง ๆ 3 ชั้น คือ
          - ชั้นนอกสุด มีลักษณะหนา เหนียว แข็งแรงมาก เรียกว่า ดูรา มาเตอร์ (Dura mater) ทำหน้าที่ป้องกันการกระทบกระเทือน
          - ชั้นกลาง เป็นเยื่อบาง ๆ เรียกว่า อแรชนอยด์ มาเตอร์ (Arachnoid mater)
          - ชั้นในสุด เป็นชั้นที่มีเส้นเลือดมาหล่อเลี้ยงมากมาย นำอาหารและออกซิเจนมาเลี้ยงเนื้อเยื่อสมองและไขสันหลัง เรียกว่า เพียมาเตอร์ (Pia mater) ระหว่างชั้นกลางกับชั้นในมีช่องบรรจุของเหลว เรียกว่า น้ำหล่อเลี้ยงสมอง- ไขสันหลัง (Cerebro-spinal fluid) ช่องนี้ เรียกว่า ช่องซับอะแรชนอยด์ (Subarachnoid space) โดยจะเป็นช่องติดต่อกันตลอดและมีทางติดต่อกับช่องตามยาวในไขสันหลัง (Central canal) ติดต่อกับโพรงในสมอง (Ventricle) ดังนั้นน้ำไขสันหลัง จึงไหลเวียนติดต่อกันหมด น้ำไขสันหลังสร้างจากเลือดฝอย ในบริเวณโพรงสมองวันละประมาณ 500 ลูกบาศก์เซนติเมตร แต่จะเหลืออยู่ในช่องต่างๆ ไหลเวียนอยู่ประมาณ 120–150 ลูกบาศก์เซนติเมตร โดยมีบางส่วนไหลเวียนเข้าสู่ระบบหมุนเวียนของเลือด น้ำหล่อเลี้ยงสมอง ไขสันหลังมีหน้าที่หล่อเลี้ยงให้สมองและไขสันหลังเปียกชื้นอยู่เสมอและนำอาหารมาเลี้ยงเซลล์ประสาทและนำของเสียออกจากเซลล์ด้วย
               1.1 สมอง (Brain)    สมองเป็นส่วนที่ใหญ่กว่าส่วนอื่น ๆ ของระบบประสาทกลาง มีลักษณะเป็นหลอดที่พองออกเต็มกะโหลกศีรษะ ผนังของหลอดประกอบด้วย เซลล์ประสาท (Neuron) และเยื่อเกี่ยวพัน(Neuroglia) ส่วนนอกของสมองเป็นเนื้อสีเทา เรียกว่า เกรย์แมตเตอร์ (Gray matter) ซึ่งเป็นที่รวมของเส้นประสาท และแอกซอนที่ไม่มีเยื่อ ไมอีลินหุ้ม เห็นโพรโทพลาซึมได้ชัด จึงมีสีเทา ส่วนในของสมองเป็นเนื้อสีขาว เรียกว่า ไวท์แมตเตอร์ (White matter) ซึ่งเป็นที่รวมของเส้นประสาทที่งอกจากเซลล์ประสาท เนื่องจากไมอิลินมีลิพิดเป็นองค์ประกอบเซลล์จึงมีสีขาว
               สมองของสัตว์มีกระดูกสันหลัง ประกอบด้วย บริเวณสำคัญมากมาย ซึ่งแบ่งออกเป็น สมองส่วนหน้า (Forebrain) สมองส่วนกลาง (Midbrain) สมองส่วนท้าย(Hindbrain) ในสัตว์มีกระดูกสันหลังต่างชนิดกันจะมีขนาดของสมอง 3 ส่วนนี้ไม่เท่ากัน เช่น พวกปลา มีสมองส่วนหน้าเล็ก เมื่อเทียบกับขนาดสมองทั้งหมด ส่วนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจะมีสมองส่วนหน้าขนาดใหญ่มาก เมื่อเทียบกับขนาดสมองทั้งหมด

รูปที่ 2-22 แสดงโครงสร้างของสมอง




               ส่วนประกอบของสมองมี ดังนี้
               1.1.1. สมองส่วนหน้า (Forebrain)
                1.1.1.1 เซรีบรัม (Cerebrum) เซรีบรัมเป็นส่วนที่มีปริมาตรมากสุดถึง 80 % ของสมองทั้งหมด เป็นส่วนที่เจริญมากที่สุดในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีคลื่นสมอง (Convolution) มาก ประกอบขึ้นด้วยครึ่งทรงกลม 2 ก้อนขวาซ้าย เรียกว่า ซีรีบรัล เฮมิสเฟียร์ (Cerebral hemisphere) ทำหน้าที่ ดังนี้
               - เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ (learning) เกี่ยวกับความคิด ความจำ เชาวน์ปัญญา ความฉลาด ดังนั้นบุคคลที่มีสติปัญญาเฉียบแหลม แสดงว่าสมองส่วนนี้เจริญพัฒนาดีมาก
               - เป็นศูนย์กลางการรับรู้ (sensation) เช่น การมองเห็น การรับรส การรับกลิ่น การรับเสียง การรับสัมผัส และความเจ็บปวด
               - ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อลาย (musclemovement) และการเคลื่อนไหวของส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
               - ควบคุมการออกเสียงเวลาพูด ( speech)
               - ควบคุมเกี่ยวกับอารมณ์ ( emotion) เช่น อารมณ์ด้านบวก ได้แก่ ความรัก ความยินดีความสนใจ และอารมณ์ด้านลบ ได้แก่ ความอิจฉาริษยา อาฆาตพยาบาท ความโกรธ ความเกลียด
               - ควบคุมบุคลิกภาพ (personality)
               - ควบคุมทักษะ (skill) ด้านต่าง ๆ รวมทั้งการใช้ภาษาซึ่งเป็นหน้าที่ของสมองซีกซ้าย โดยคนถนัดขวานั้น cerebrum ซีกซ้ายคุมร่างกายซีกขวา ส่วน cerebrum ซีกขวาคุมร่างกายซีกซ้าย เพราะใยประสาทจากด้านหนึ่งของร่างกายจะไขว้ไปยัง cerebrumด้านตรงข้าม
               - เกี่ยวกับการต่อสู้ (fighting) และการหนี (fleeing)
               - ควบคุมพฤติกรรมทางสังคม (social behavior)

               1.1.1.2 ทาลามัส (Thalamus) เป็นสมองที่อยู่เหนือไฮโพทาลามัส ทำหน้าที่ เป็นศูนย์ รวมกระแสประสาทที่ผ่านมา แล้วแยกกระแสประสาท ส่งไปยังสมองที่เกี่ยวข้องกับกระแสประสาท อาจเรียกส่วนนี้ว่า เป็นสถานีถ่ายทอดที่สำคัญของสมอง จากการศึกษาพบว่า ทาลามัส เป็นบริเวณที่รวมของกลุ่มตัวเซลล์ประสาท และนิวโรเกลีย (Neuroglia) อัดกันอยู่ แต่ละกลุ่มจะประกอบ ด้วยกลุ่มของเซลล์ และแขนงของเส้นประสาท ที่ติดต่อกับบริเวณอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกัน และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากเซลล์ประสาทที่นำกระแสประสาทจากหูและตา ต่างก็เข้ามาสู่บริเวณเฉพาะของทาลามัส และจากทาลามัสจะมีแขนส่งต่อไปยังสมองส่วนเซรีบรัมอีกทีหนึ่ง ทาลามัสมีบริเวณที่รับความรู้สึก รับข้อมูลจากซีรีเบลลัมและเมดุลลา ออบลองกาตา ทาลามัสยังทำหน้าที่ เป็นศูนย์รับความเจ็บปวด และการแสดงพฤติกรรมต่อความเจ็บปวด (thalamic pain)
               1.1.1.3 ไฮโพทาลามัส ( Hypothalamus ) ไฮโพทาลามัส เป็นสมองส่วนหน้าที่อยู่ทางด้านล่างสุด ยื่นมาติดต่อกับต่อมใต้สมอง (pituitary gland) ไฮโพทาลามัส เป็นบริเวณที่ควบคุมกระบวนการสำคัญต่าง ๆ ของการดำรงชีวิต เช่น ควบคุมประมาณน้ำในร่างกาย ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย การเต้นของหัวใจ ความดันเลือด การนอนหลับ ความหิว ความอิ่ม อารมณ์ต่าง ๆ ความรู้สึกทางเพศ ได้มีการทดลองปล่อยกระแสไฟฟ้าไปทำลายเนื้อเยื่อสมองบริเวณศูนย์ควบคุม การกินอาหารในไฮโพทาลามัสของหนู ปรากฏว่าหนูเกิดอาการหิวและกินอาหารตลอดเวลา ทำให้เกิดโรคอ้วน มีน้ำหนักมากกว่าปกติ 3-4 เท่า นอกจากนี้พบว่าไฮโพทาลามัสมีนิวโรซีครีตอรีเซลล์ (Neurosecretory cell) ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนประสาท (Neurohumor) บางชนิด มาควบคุมการหลั่งฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองส่วนหน้าด้วย ดังนั้นไฮโพทาลามัส จึงเป็นศูนย์กลางควบคุมระบบประสาทอัตโนวัติ (autonomic center)
               1.1.1.4 ออลแฟกทอรีบัลบ์ (Olfactory bulb) อยู่ทางด้านหน้าสุดทำหน้าที่เกี่ยวกับการดมกลิ่น ในพวกปลาจะมีออลแฟกตอรีบัลบ์โตมาก จึงมีความสามารถในการดมกลิ่นได้ดีมากในสัตว์ เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิดสมองส่วนนี้จะไม่เจริญ โดยเฉพาะในพวก ไพรเมต(Primate)ออลแฟกทอรีบัลบ์จะไม่เจริญเลย


               1.1.2. สมองส่วนกลาง (Midbrain)    ออปติก โลบ (Optic lobe) เป็นส่วนที่พองออกไปเป็นกระเปาะ ในคนส่วนนี้ถูก เซรีบรัมบังเอาไว้ ในสัตว์เลี้ยวลูกด้วยนมมีอยู่ 4 กระเปาะ แต่ในสัตว์มีกระดูกสันหลัง อื่นๆ ส่วนนี้มีเพียง 2กระเปาะทำหน้าที่เกี่ยวกับการรับภาพ รวมทั้งความรู้สึกจากหู จมูก เป็นศูนย์กลาง การมองเห็นเจริญดีในปลา ส่วนในสัตว์ชั้นสูงขึ้นจะมีขนาดเล็กลง และมีขนาดเล็กสุดในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

               1.1.3. สมองส่วนท้าย (Hindbrain)   สมองส่วนท้าย ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ซีรีเบลลัม เมดุลลา ออบลองกาตาและพอนส์     ซีรีเบลลัม (Cerebellum) ทำหน้าที่ติดต่อกับประสาทรับความรู้สึกที่มาจากหน่วยรับความรู้สึก (receptor) ที่บอกตำแหน่งของกล้ามเนื้อลาย จึงเป็นศูนย์ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อลาย ที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของร่างกาย เช่น การนั่ง การเดิน การเคี้ยวอาหาร การวิ่ง ให้เป็นไปอย่างราบรื่น สามารถทำงานที่ต้องการความละเอียดอ่อนได้ และยังทำหน้าที่เกี่ยวกับควบคุมการทรงตัวของร่างกาย เช่น ขณะเดินไปบนท่อนไม้เล็ก ๆ ที่วางพาดบนลำธารเล็ก ๆ ไม่ให้ล้มลงไป คนที่ดื่มสุราจนเมา แล้วเดินไม่ตรง ก็เนื่องมาจากแอลกอฮอล์ มีผลต่อการทำงานของเซรีเบลลัมนั่นเอง

               1.1.3.1 เมดัลลา ออบลองกาตา (Medulla oblongata) เป็นส่วนสุดท้ายของสมองที่ต่อเนื่องกับไขสันหลัง มีกลุ่มเซลล์หลายกลุ่มทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบประสาทอัตโนวัติ ซึ่งควบคุมการทำงานของอวัยวะภายใน เช่น การหายใจ การเต้นของหัวใจ การบีบตัวของเส้นเลือด การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อลำไส้ การไอ การจามและเป็นทางผ่านของกระแสประสาท ระหว่างสมองและไขสันหลัง
               1.1.3.2 พอนส์ (Pons ) เป็นสมองส่วนที่อยู่ด้านหลังของซีรีเบลลัม ต่อขึ้นมาจากเมดัลลาออบลองกาตา ประกอบไปด้วยเซลล์ประสาทส่งความรู้สึกควบคุมการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวกับการเคี้ยว การหลั่งน้ำลายและการเคลื่อนไหวบริเวณใบหน้า นอกจากนี้ยังมีเซลล์ประสาทที่เกี่ยวข้องกับการฟัง การหายใจ และการกระตุ้นของเซลล์ประสาทส่งความรู้สึกทางประสาทสันหลังและมีศูนย์ควบคุมข้อมูลที่ส่งผ่านระหว่างสมอง ส่วนเซรีบรัมกับเซรีเบลลัม และระหว่างซีรีเบลลัมกับไขสันหลัง






          1.2 ไขสันหลัง (spinal cord)  ไขสันหลังเริ่มต้นจากส่วนปลายของเมดัลลา (medulla) ถึงกระดูกไขสันหลังส่วนเอวที่ 1 และ2 ความยาวประมาณ 45 เซนติเมตร คลุมด้วยเยื่อหุ้ม (meniges) 3 ชั้น คือ เยื่อดูรา (duramater) อยู่นอกสุด เยื่อ อแรคนอยด์ (arachnoid mater) และเยื่อเพีย (pia mate )อยู่ชั้นในสุดติดกับเนื้อเยื่อสีขาว (white matter) ของไขสันหลัง ประกอบด้วยเส้นใยประสาทผ่านขึ้นลงตามแกนยาวของไขสันหลัง ชั้นในของไขสันหลังเป็นที่อยู่ของเซลล์ประสาทเรียกว่า เนื้อเยื่อสีเทา (gray matter) มีรูปร่างคล้ายผีเสื้อหรือรูป“H” ไขสันหลังเป็นศูนย์กลางของรีเฟล็กซ์ ต่างๆและเป็นทางผ่านนำกระแสความรู้สึกส่งต่อไปยังสมองและนำคำสั่งจากสมองมายังเซลล์ประสาทสั่งการ(motor neurons) ในไขสันหลังเนื้อไขสันหลังมี 2 ส่วนคือ

               1.2.1 white matter เป็นส่วนที่มีสีขาวอยู่รอบนอก มีเฉพาะใยประสาทที่มีเยื่อไมอีลินหุ้มโดยไม่มีตัวเซลล์ประสาทอยู่เลย
               1.2.2 Gray matter เป็นส่วนที่มีสีเทาอยู่บริเวณกลางๆ โดยบริเวณนี้มีทั้งตัวเซลล์ประสาทและใยประสาทที่ไม่มีเยื่อไมอีลินหุ้ม ตัวเซลล์ประสาทมีทั้งเซลล์ประสาทประสานงานและเซลล์ประสาทนำคำสั่ง มีรูปร่างคล้ายอักษรรูปตัว H หรือ ปีกผีเสื้อ ซึ่งประกอบด้วย
               - ปีกบน (dorsal horn) รับความรู้สึกเพราะรับกระแสความรู้สึกมาจากเซลล์ประสาทขั้วเดียว (unipolar neuron) ที่อยู่ในปมประสาทรากบน (dorsal root ganglion) ฉะนั้นปมประสาทรากบน จึงเป็นเส้นประสาทนำความรู้สึก (deneory pathway)
               - ปีกล่าง (ventral horn) นำคำสั่ง (motor area) เพราะมีเซลล์ประสาทสั่งการปรากฏอยู่ แอกซอนของเซลล์ประสาทสั่งการจะยื่นออกไป กลายเป็นรากล่าง (ventralroot)
               - ปีกข้าง (lateral horn) เป็นระบบประสาทอัตโนวัติ (autonomicarea)



รูปที่ 2-25 แสดงไขสันหลังและเส้นประสาท

1 ความคิดเห็น: