อักษรวิ่ง

ยินดีต้อนรับสู่โลกแห่งวิทยาศาสตร์แขนงชีววิทยา Welcome to the world of biological sciences.

วันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

พฤติกรรมสัตว์



        สิ่งมีชีวิตทุกชนิดจะมีแบบแผนของการตอบสนองการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมต่างๆกัน การตอบสนองอาจเกิดขึ้นทันทีทันใดหรืออาจเป็นไปอย่างช้าๆ แต่มีผลทำให้สิ่งมีชีวิตมีการแสดงออกหรือมีพฤติกรรมในลักษณะต่างๆ ซึ่งมีผลต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตด้วย
          1.) ความหมายของพฤติกรรม
          พฤติกรรม (Behavior) หมายถึง กิริยาของสิ่งมีชีวิตที่แสดงออกมาเพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มากระตุ้นทั้งสิ่งเร้าภายในและสิ่งเร้าภายนอก
          สิ่งเร้า (Stimulus) คือ สัญญาณหรือการเปลี่ยนแปลงซึ่งมีผลต่อกิจกรรมของสิ่งมีชีวิต โดยทั่วๆไปจะแบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ


          - สิ่งเร้าภายในร่างกาย ได้แก่ ฮอร์โมน เอนไซม์ ความหิว ความเครียด ความต้องการทางเพศ เป็นต้น
          - สิ่งเร้าภายนอกร่างกาย ได้แก่ แสง เสียง อุณหภูมิ อาหาร น้ำ การสัมผัส สารเคมี เป็นต้น


          2.) กลไกการเกิดพฤติกรรม
          การที่สัตว์จะแสดงพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาได้นั้น จะต้องมีองค์ประกอบสำคัญดังนี้
          - เหตุจูงไจ (Motivation)
          - ตัวกระตุ้นปลดปล่อย (Releasing Stimulus)  เช่น พฤติกรรมการกินอาหารของสัตว์ ความหิว เป็นเหตุจูงใจ   อาหาร เป็นตัวกระตุ้นปลดปล่อย
          โดยทั่วไปถ้าเหตุจูงใจสูง สัตว์จะสามารถแสดงพฤติกรรมออกมาได้ ถึงแม้ตัวกระตุ้นปลดปล่อยจะไม่รุนแรง ในทางตรงกันข้ามถ้าเหตุจูงใจต่ำ แต่ตัวกระตุ้นปลดปล่อยมีความรุนแรงมาก สัตว์จะสามารถแสดงพฤติกรรมออกมาได้เช่นกัน


         
3.) พฤติกรรมของคนและสัตว์ที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก
          สิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ไวต่อการรับความรู้สึกและโต้ตอบสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นรอบๆตัว เช่น แสง อุณหภูมิ น้ำ และการสัมผัส ซึ่งเรียกว่า สิ่งเร้า ส่วนพฤติกรรม หรืออาการที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของสิ่งมีชีวิตแสดงออกหรือปรากฏให้เห็นเมื่อถูกสิ่งเร้ามากระตุ้น ณ ชั่วขณะหนึ่ง เรียกว่า การตอบสนอง
          คนและสัตว์สามารถแสดงพฤติกรรมบางอย่างเพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก ซึ่งได้แก่ แสง อุณหภูมิ น้ำ และการสัมผัส ได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับลักษณะของสิ่งเร้าและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อความปลอดภัยและการอยู่รอดของชีวิต โดยอาศัยการทำงานที่ประสานกันระหว่างระบบประสาท ระบบกล้ามเนื้อ รวมทั้งต่อมไร้ท่อและระบบต่อมมีท่อดังนี้
          3.1 การตอบสนองเมื่อได้รับแสงเป็นสิ่งเร้า   คนและสัตว์บางชนิดสามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็วเมื่อได้รับแสง เช่น
          - การหรี่ตาเมื่อได้รับแสงสว่างมากเกินไป
          - การที่แมลงต่างๆ บินเข้าหาแสงสว่าง
          - เมื่อเกิดสุริยุปราคา นกจะบินกลับรัง เนื่องจากมีสภาพคล้ายเวลาพลบค่ำ          - การหนีแสงของไส้เดือนดิน
          - การให้แสงสว่างในการเลี้ยงไก่ เพื่อให้ไก่กินอาหารเป็นเวลานาน ทำให้เจริญเติบโตเร็วในระยะเวลาสั้นกว่าปกติ
          - สัตว์บางชนิดออกหาอาหารในเวลาที่เริ่มมีแสงสว่าง เช่น การที่นกบินออกจากรังในตอนเช้า
          - ไก่ขันบอกเวลาในตอนเช้า
          แต่ก็มีสัตว์บางชนิดจะออกหาอาหารในเวลาที่ไม่มีแสงสว่าง เช่น นกเค้าแมว ค้างคาว หนู
         
3.2 การตอบสนองเมื่อได้รับอุณหภูมิเป็นสิ่งเร้า   คนและสัตว์จะดำรงชีวิตในสภาวะที่มีอุณหภูมิที่เหมาะสม ถ้าอุณหภูมิเปลี่ยนไป สิ่งมีชีวิตจะมีพฤติกรรมที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเพื่อความปลอดภัย และการดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะสม


เมื่ออากาศร้อน หรือมีอุณหภูมิสูง
เมื่ออากาศเย็นหรืออุณหภูมิต่ำ
-     คนจะเหงื่อออกมาก เป็นการระบายความร้อน
-     คนเมื่อสัมผัสวัตถุที่ร้อนจัด จะเกิดอาการสะดุ้ง และดึงอวัยวะส่วนที่สัมผัสออกทันที
-     สุนัข วัว ควาย แกะ จะระบายความร้อนโดยน้ำระเหยออกจากลิ้นและเพดานปากด้วยการหอบ
-     แมว กระต่าย จิงโจ้ จะระบายความร้อนโดยการเลียอุ้งเท้า และน้ำลายจะพาความร้อนออกไป
-     ควายจะหนีร้อนด้วยการแช่ในแอ่งน้ำ
-     สัตว์เลื้อยคลาน เช่น จิ้งเหลน กิ้งก่า งู จะหลบร้อนอยู่ตามโพรงไม้ หรือ ในที่ร่ม
-       คนจะขนลุก หนาวสั่น เป็นการป้องกันการสูญเสียความร้อน และเพิ่มความร้อนให้แก่ร่างกาย
-     คนเมื่อสัมผัสวัตถุที่เย็นจัด จะเกิดอาการสะดุ้ง และดึงอวัยวะส่วนที่สัมผัสออกทันที
-       นกนางแอ่นบ้าน และ นกปากห่าง จะอพยพย้ายถิ่นจากไซบีเรียมายังประเทศไทย
-       กระรอกดินจะหนีอากาศหนาวด้วยการจำศีล(Hibernation)
-       สัตว์เลื้อยคลาน เช่น จิ้งเหลน กิ้งก่า งู จะนอนผึ่งแดด

          3.3 การตอบสนองเมื่อได้รับน้ำเป็นสิ่งเร้า   น้ำเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรังชีวิตของคนและสัตว์ ช่วยลำเลียงสารอาหารไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ช่วยรักษาอุณหภูมิของร่างกาย ช่วยในการขับถ่าย ช่วยรักษาผิวหนังให้ชุ่มชื้น ดังนั้นเมื่อสภาพแวดล้อมมีปริมาณน้ำไม่เหมาะสม คนและสัตว์บางชนิดจะปรับตัวให้เหมาะสม ดังตัวอย่างต่อไปนี้
          - ไส้เดือนจะเคลื่อนที่เข้าหาความชื้น เพื่อให้ผิวหนังชุ่มชื้น เนื่องจากไส้เดือนหายใจโดยใช้ผิวหนังจึงจำเป็นที่ผิวหนังจะต้องชุ่มชื้นตลอดเวลา
          - น้ำทำให้สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น กบ คางคก ออกหากินในเวลากลางคืน เพื่อให้มีความชื้นพอเหมาะ
          - สัตว์ทะเลทรายจะออกหากินในเวลากลางคืนเพื่อลดการสูญเสียน้ำ
          สำหรับคนการตอบสนองกับสิ่งเร้าที่เป็นน้ำจะสังเกตไม่ได้ชัดเจน เพราะคนเราสามารถปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวกับน้ำ
         
3.4 การตอบสนองสิ่งเร้าเมื่อได้รับการสัมผัสเป็นสิ่งเร้า   ผิวหนังของคนและสัตว์จะมีประสาทสัมผัสอยู่ที่บริเวณผิวหนัง ดังนั้นเมื่อได้รับการสัมผัส ระบบประสาทกับระบบกล้ามเนื้อจะทำงานประสานกัน และแสดงอาการตอบสนองสิ่งเร้าได้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
          - อึ่งอ่างเมื่อได้รับการสัมผัสจะพองตัว
          - กิ้งกือจะขดตัวเมื่อถูกสัมผัส
          - เมื่อผงเข้าตา นัยน์ตาจะขับน้ำตาออกมาเพื่อกำจัดผง
          - การกะพริบตาเมื่อรู้สึกว่ามีวัตถุเข้าใกล้นัยน์ตา เพื่อป้องกันอันตรายให้แก่นัยน์ตา


          4.) พฤติกรรมต่างๆ ในคนและสัตว์
          พฤติกรรมของคนและสัตว์ที่แสดงออกมาในชีวิตประจำวัน ล้วนแต่เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิตให้อยู่รอด และสามารถดำรงเผ่าพันธ์ไว้ได้ แบบแผนการเกิดพฤติกรรมอาจเป็นแบบง่ายๆ หรือซับซ้อนก็ได้   พฤติกรรมของคนและสัตว์สามารถจำแนกออกเป็น 2 ประเภทคือ
         
4.1 พฤติกรรมที่มีมาแต่กำเนิด (Innate Behavior) เป็นพฤติกรรมแบบง่ายๆ ในการตอบสนองสิ่งเร้าโดยไม่ต้องผ่านการเรียนรู้หรือประสบการณ์มาก่อน มีแบบแผนที่แน่นอนในสัตว์แต่ละชนิด ดังนั้น สมาชิกของสัตว์ชนิดเดียวกันจะมีพฤติกรรมการแสดงออกที่เหมือนกัน พฤติกรรมประเภทนี้ยังสามารถแบ่งย่อยออกเป็นแบบต่างๆ ได้ 4 แบบ คือ



               4.1.1 พฤติกรรมแบบไคนีซิส (Kinesis) เป็นพฤติกรรมที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าด้วยการเคลื่อนที่ทั้งตัวแบบมีทิศทางไม่แน่นอน คือ มีทิศทางที่ไม่สัมพันธ์กับทิศทางของสิ่งเร้า พฤติกรรมแบบนี้มักพบในสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังชั้นต่ำ และพวกโพรติสต์ ซึ่งมีหน่วยรับความรู้สึกที่มีประสิทธิภาพไม่ดีพอ เช่น
               - การเคลื่อนที่ออกจากบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงของพารามีเซียม
               - การเคลื่อนที่หนีฟองแก๊ส CO2 ของพารามีเซียม
               - การเคลื่อนที่ของตัวกุ้งเต้นเมื่ออยู่ในความชื้นที่แตกต่างกัน
               4.1.2 พฤติกรรมแบบแทกซิส (Taxis) เป็นพฤติกรรมการเคลื่อนที่เข้าหาหรือหนีออกจากสิ่งเร้าอย่างมีทิศทางที่แน่นอน พฤติกรรมแบบนี้มักพบในสิ่งมีชีวิตที่มีหน่วยรับความรู้สึกที่มีประสิทธิภาพดีพอที่จะสามารถรับรู้และเปรียบเทียบสิ่งเร้าได้
               - การเคลื่อนที่เข้าหาแสงสว่างของพลานาเรีย
               - การเคลื่อนที่ของหนอนแมลงวันหนีแสง
               - การเคลื่อนที่ของแมลงเม่าเข้าหาแสง
               - การเคลื่อนที่ของค้างคาวเข้าหาแหล่งอาหารตามเสียงสะท้อน
               - การบินเข้าหาผลไม้สุกของแมลงหวี่
               4.1.3 พฤติกรรมแบบรีเฟลกซ์ (Reflex) เป็นพฤติกรรมที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มากระตุ้นอย่างรวดเร็วทันทีทันใด พฤติกรรมแบบนี้มีความสำคัญ เพราะช่วยให้สิ่งมีชีวิตรอดพ้นจากอันตรายได้ เช่น
               - การกะพริบตาเมื่อผงเข้าตา
               - การยกเท้าหนีทันทีเมื่อเหยียบหนาม ของแหลม หรือ ของร้อน
               - การไอ การจาม เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในทางเดินหายใจ
               4.1.4 พฤติกรรมแบบรีเฟลกซ์ต่อเนื่อง (Chain of Reflexes) เป็นพฤติกรรมที่ประกอบด้วยพฤติกรรมย่อยๆ หลายพฤติกรรมที่เป็นปฏิกิริยารีเฟลกซ์ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกัน แต่เดิมใช้คำว่า สัญชาตญาณ (Instinct) แต่ในปัจจุบันคำนี้ใช้กันน้อยมากในทางพฤติกรรมเพราะมีความหมายกว้างเกินไป ซึ่งอาจหมายรวมถึงพฤติกรรมที่มีมาแต่กำเนิดทุกๆแบบด้วย สัตว์พวกแมลง สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ปีก จะมีพฤติกรรมนี้เด่นชัด เช่น
               - การสร้างรังของนกและแมลง
               - การชักใยของแมงมุม
               - การกินอาหารของสัตว์แต่ละชนิด เช่น การแทะมะพร้าวของกระรอก
               - การเกี้ยวพาราสีของสัตว์ต่างๆ
               - การฟักไข่และเลี้ยงลูกอ่อนของสัตว์
               - การจำศีลและการอพยพย้ายถิ่นของสัตว์
         
4.2 พฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้ (Leaning Behavior) เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้โดยอาศัยประสบการณ์หรือการเรียนรู้ของสัตว์ พฤติกรรมแบบนี้ส่วนใหญ่พบในสัตว์ชั้นสูงที่มีระบบประสาทเจริญดี แต่ในสัตว์ชั้นต่ำบางชนิดก็สามารถแสดงพฤติกรรมประเภทนี้ได้ พฤติกรรมประเภทนี้สามารถแบ่งย่อยออกเป็นแบบต่างๆ ได้ดังนี้
               4.2.1. พฤติกรรมเรียนรู้แบบแฮบบิชูเอชัน (Habituation) เป็นพฤติกรรมที่สัตว์หยุดตอบสนองต่อสิ่งเร้าเดิม แม้จะยังได้รับการกระตุ้นอยู่ เนื่องจากสัตว์เรียนรู้แล้วว่าสิ่งเร้านั้นไม่มีผลต่อการดำเนินชีวิตของตัวเองเช่น
               - การที่นกลดอัตราการบินหนีหุ่นไล่กา
               - การที่นกหยุดบินหนีเมื่อรถแล่นผ่านรังของมันที่อยู่บนต้นไม้ริมถนน
               - การเลิกแหงนมองตามเสียงเครื่องบินของสุนัขที่อาศัยอยู่แถวสนามบิน
               4.2.2. พฤติกรรมการเรียนรู้แบบมีเงื่อนไข (Conditioning) เป็นพฤติกรรมการตอบสนองสิ่งเร้าทีไม่แท้จริงได้เช่นเดียวกับสิ่งเร้าที่แท้จริง เช่น
               - การทดลองของ อีวาน พาฟลอฟ นักสรีรวิทยาชาวรัสเซีย เป็นการทดลองว่า สุนัขหลั่งน้ำลายเมื่อได้ยินเสียงกระดิ่ง
               - การฝึกสัตว์เลี้ยงที่บ้านให้แสนรู้ ฝึกสัตว์ไว้ใช้งาน ฝึกสัตว์แสดงละครสัตว์ ล้วนมีพื้นฐานมาจากพฤติกรรมการเรียนรู้แบบมีเงื่อนไขทั้งสิ้น
               4.2.3. พฤติกรรมการเรียนรู้แบบฝังใจ (Imprinting) เป้นพฤติกรรมที่ตอบสนองสิ่งเร้าในช่วงแรกของชีวิตด้วยการจดจำสิ่งเร้าต่างๆ ได้ เช่น
               - การที่สัตว์ต่างๆ เดินตามแม่ เพราะสิ่งแรกที่เห็นเมื่อเกิดมาคือ แม่
               - ตัวอ่อนของแมลงหวี่ที่ฟักออกมาจากไข่จะผูกพันกับกลิ่นของพืชที่แม่แมลงหวี่วางไข่ไว้ และเมื่อโตเต็มวัยก็จะมาวางไข่บนพืชชนิดนั้น
               - ปลาแซลมอนจะฝังใจต่อกลิ่นที่ได้สัมผัสเมื่อออกจากไข่ และเมื่อเติบโตขึ้นถึงช่วงวางไข่ก็จะว่ายทวนน้ำกลับไปวางไข่ยังบริเวณแหล่งน้ำจืดที่เคยฟักออกจากไข่
               4.2.4. พฤติกรรมการเรียนรู้แบบลองผิดลองถูก (Trial and Error) เป็นพฤติกรรมที่แสดงออกโดยการให้สัตว์มีการทดลองก่อน โดยไม่รู้ผลว่าจะดีหรือไม่ ผลของการตอบสนองจะทำให้สัตว์เกิดการเรียนรู้ที่เลือกตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เป็นผลดีหรือพอใจเท่านั้น เช่น
               - การเดินในทางวกวนไปหาอาหารของหนู และหนูสามารถเดินทางไปหาอาหารและหาทางออกได้ในระยะเวลาอันสั้น หลังจากที่ได้ทดลองเดินมาก่อน
               - การเลือกทางเดินของไส้เดือนที่อยู่ในกล่องรูปตัว T โดยมีด้านหนึ่งที่มืดและชื้น กับอีกด้านหนึ่งมีกระแสไฟอ่อนๆซึ่งไส้เดือนได้ผ่านการฝึกมาแล้ว จะสามารถเลือกทางที่ถูกต้องได้ถึงประมาณร้อยละ 90
               - เด็กเอามือไปจับยากันยุงที่ร้อน เมื่อเกิดการเรียนรู้จะไม่ทำพฤติกรรมเช่นนี้อีก
               4.2.5. พฤติกรรมการเรียนรู้แบบใช้เหตุผล ( Reasoning ) เป็นพฤติกรรมที่แสดงออกโดยใช้สติปัญญาในการแก้ปัญหาต่างๆโดยไม่ต้องทดลองทำ ซึ่งเป็นการใช้ประสบการณ์หลายอย่างในอดีตมาช่วยในการแก้ปัญหาสถานการณ์ใหม่ในครั้งแรก เช่น
               - การทดลองของโคเลอร์ ( W. Kohler ) เกี่ยวกับการแก้ปัญหาของลิงชิมแพนซี
               - การใช้เหตุผลของคนในการแก้ปัญหาต่างๆ


          5. พฤติกรรมทางสังคมของสัตว์ ( Social Behavior) 
          สัตว์ที่อยู่รวมกันเป็นหมู่เป็นสังคมมีความจำเป็นจะต้องสื่อสารติดต่อกันเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ พฤติกรรมที่สัตว์ใช้สื่อสารมีหลายวิธี ดังนี้
          5.1. การสื่อสารด้วยท่าทาง ( Visual Signal ) เป็นท่าทางที่สัตว์แสดงออกมาอาจจะเป็นแบบง่ายๆหรือาจมีหลายขั้นตอนที่สัมพันธ์กัน เช่น
          - การแยกเขี้ยวของแมว
          - การเปลี่ยนสีของปลากัดขณะต่อสู้กัน
          - สุนัขหางตกเมื่อต่อสู้แพ้และวิ่งหนี
          - นกยูงตัวผู้รำแพนหางขณะเกี้ยวพาราสีนกยูงตัวเมีย
          - การเต้นระบำของผึ้งเพื่อบอกแหล่งและปริมาณอาหาร ถ้าแหล่งอาหารอยู่ใกล้ จะเต้นเป็นรูปวงกลม แต่ถ้าแหล่งอาหารอยู่ไกล จะเต้นคล้ายรูปเลข 8 และมีการส่ายก้นไปมาด้วย โดยถ้าส่ายก้นเร็ว แสดงว่าปริมาณอาหารมีมาก
          2. การสื่อสารด้วยเสียง ( Sound Signal ) เสียงของสัตว์ที่เปล่งออกมาในแต่ละครั้งจะแสดงถึงการตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆและสื่อความหมายที่แตกต่างกัน เช่น
          - เสียงทำให้เกิดการรวมกลุ่ม เช่น เสียงร้องของนก ไก่ แกะ และกระรอก
          - เสียงเรียกคู่เพื่อผสมพันธ์ เช่น เสียงร้องของกบและคางคก เสียงขยับปีกของยุงตัวเมียเพื่อเรียกยุงตัวผู้
          - เสียงเตือนภัย เช่น เสียงร้องของเป็ด ไก่ นก และเสียงเห่าของสุนัข
          - เสียงแสดงความโกธร เช่น เสียงร้องของแมว สุนัข และช้าง
          3. การสื่อสารด้วยการสัมผัส (Physical Contract) เป็นการสื่อสารโดยการใช้อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งสัมผัสกับสัตว์พวกเดียวกันหรือต่างพวกกัน เพื่อกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมโต้ตอบกัน การสัมผัสเป็นการสื่อสารที่สำคัญอย่างหนึ่งของสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น